วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การใช้ถ้อยคำ สำนวน สุภาษิต คำพังเพย


ใบความรู้  ครั้งที่ 6
เรื่อง  การใช้ถ้อยคำ สำนวน สุภาษิต คำพังเพย


การใช้ถ้อยคำ สำนวน สุภาษิต คำพังเพย
          คนไทยนิยมใช้ภาษาถ้อยคำสำนวนที่สละสลวย ไพเราะ เสนาะหู และสะดวกแก่การออกเสียงลักษณะนิสัยคนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน เวลาพูดหรือเขียนจึงนิยมใช้ถ้อยคำสำนวนปนอยู่เสมอถ้อยคำสำนวนต่างๆ เหล่านี้ช่วยให้การสื่อสารความหมายชัดเจน ได้ความไพเราะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ได้ดี บางครั้งใช้เป็นการสื่อสารความหมายเพื่อเปรียบเปรยได้อย่างคมคายลึกซึ้ง เหมาะสมกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทย ซึ่งแสดงถึงอัธยาศัยที่ดีต่อคนอื่นเป็นพื้นฐาน
          ประเภทของถ้อยคำสำนวน
          1. ถ้อยคำสำนวน เป็นสำนวนคำที่เกิดจากการผสมคำแล้วเกิดเป็นคำใหม่ เช่น คำผสม คำซ้อน หรือคำที่เกิดจากการผสมคำหลายคำ ผสมกันเป็นลักษณะสัมผัส คล้องจอง มีความหมายไม่แปลตรงตามรูปศัพท์ แต่มีความหมายในเชิงอุปไมย เช่น
                    ไก่อ่อน                     หมายถึง          คนที่ยังไม่ชำนาญในชั้นเชิง
                   กิ่งทองใบหยก              หมายถึง          ความเหมาะสมของคู่กันนั้นมีมาก
                   เกลือจิ้มเกลือ              หมายถึง          มีความดุร้ายเข้าหากัน แก้เผ็ดกัน
                   แกว่งเท้าหาเสี้ยน          หมายถึง          การหาเรื่องเดือดร้อน
                   ขิงก็ราข่าก็แรง             หมายถึง          ต่างฝ่ายก็ร้ายเข้าหากัน
          2. คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำที่กล่าวขึ้นมาลอยๆ เป็นกลางๆ มีความหมายเป็นคติสอนใจสามารถนำไปตีความแล้วนำไปใช้พูด หรือเขียนให้เหมาะสมกับเรื่องที่เราต้องการสื่อสารความหมายได้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสุภาษิตมาก อาจเป็นคำกล่าวติ ชม หรือแสดงความคิดเห็น เช่น
                   รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง     หมายถึง          คนที่ทำอะไรผิดแล้วมักกล่าวโทษสิ่งอื่น
                   ขี่ช้างจับตั๊กแตน           หมายถึง          การลงทุนมากเพื่อทำงานที่ได้ผลเล็กน้อย
          คำพังเพยเหล่านี้ยังไม่เป็นสุภาษิตก็เพราะว่า การกล่าวนั้นยังไม่มีข้อยุติว่าเป็นหลักความจริงที่แน่นอน ยังไม่ได้เป็นคำสอนที่แท้จริง
          3. อุปมาอุปไมย หมายถึง ถ้อยคำที่เป็นสำนวนพวกหนึ่ง กล่าวทำนองเปรียบเทียบให้เห็นจริงเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจน และสละสลวยน่าฟังมากขึน้ การพูดหรือการเขียนนิยมหาคำอุปมาอุปไมยมาเติมให้ได้ความชัดเจนเกิดภาพพจน์ เข้าใจง่าย เช่น คนดุ หากต้องการให้ความหมายชัดเจน น่าฟังและเกิดภาพพจน์ชัดเจนก็ต้องอุปมาอุปไมยว่า ดุ เหมือน เสือขรุขระมาก การสื่อความยังไม่ชัดเจนไม่เห็นภาพ ต้องอุปมาอุปไมยว่า ขรุขระเหมือนผิวมะกรูดหรือ ขรุขระเหมือนผิวพระจันทร์
ก็จะทำให้เข้าใจความหมายในรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น
          ในการเขียนบทร้อยแก้วหรือแก้วกรองก็ตาม เราไม่อาจเขียนให้ละเอียดลึกซึ้ง เพื่อสื่อความได้แจ่มแจ้งเท่ากับการพูดบรรยายด้วยตนเองได้ ก็จำเป็นต้องใช้อุปมาเพื่อเปรียบเทียบให้ผู้รับสารจากเราได้รับรู้ความจริง ความรู้สึก โดยการใช้คำอุปมาเปรียบเทียบ ในการแต่งคำประพันธ์ก็นิยมใช้อุปมากันมากเพราะคำอุปมาอุปไมยจะช่วยตกแต่งถ้อยคำสำนวนการเขียนให้ไพเราะน่าอ่าน กินใจประทับใจมากขึ้น สังเกตการใช้อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบในตัวอย่างต่อไปนี้
                   - ท่านจะไปทัพครั้งนี้ อย่าเพิ่งประมาทดูแคลนเล่าปี่ ด้วยเล่าปี่ได้ขงเบ้งมาไว้เป็นที่ปรึกษา อุปมา เหมือนเสืออันคะนองอยู่ในป่าใหญ่ ท่านเร่งระวังตัวจงดี

          ตัวอย่างอุปมาที่ควรรู้จัก
                   แข็งเหมือนเพชร กรอบเหมือนข้าวเกรียบ
                   กลมเหมือนมะนาว กลัวเหมือนหนูกลัวแมว
                   กินเหมือนหมู คดเคี้ยวเหมือนเขาวงกต

แหล่งที่มา  :http://202.143.165.163/th_m1/chap5/chap5_6.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น